อำนาจหน้าที่

พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยพะเยา พ.ศ. 2553



มาตรา 7


มหาวิทยาลัยอาจแบ่งส่วนงาน ดังนี้

(1) สำนักงานสภามหาวิทยาลัยพะเยา

(2) ส่วนงานบริหารมหาวิทยาลัย

(3) ส่วนงานวิชาการ

(4) ส่วนงานอื่น


มาตรา 33


อธิการบดีเป็นผู้แทนของมหาวิทยาลัยในกิจการทั้งปวง และโดยเฉพาะให้มีอำนาจและหน้าที่ ดังนี้

(1) บริหารกิจการของมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และนโยบายของมหาวิทยาลัย

(2) บริหารการเงิน การคลัง การพัสดุ และทรัพย์สินอื่นของมหาวิทยาลัยให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบและประกาศของมหาวิทยาลัย

(3) บรรจุ แต่งตั้ง ดำเนินการทางวินัย และถอดถอนพนักงานและลูกจ้างของมหาวิทยาลัย รวมทั้งดำเนินการบริหารงานบุคคลตามข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

(4) จัดทำแผนพัฒนามหาวิทยาลัยและดูแลให้มีการปฏิบัติตามนโยบายและแผนงาน รวมทั้งติดตามประเมินผลการดำเนินงานด้านต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย

(5) จัดหารายได้และทรัพยากรจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการดำเนินภารกิจของมหาวิทยาลัยเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของมหาวิทยาลัย

(6) จัดทำงบประมาณรายรับและงบประมาณรายจ่ายเพื่อเสนอต่อสภามหาวิทยาลัย

(7) เสนอรายงานประจำปีเกี่ยวกับกิจการด้านต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัยต่อสภามหาวิทยาลัย

(8) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามกฎหมาย ข้อบังคับ ระเบียบ และประกาศของมหาวิทยาลัยหรือตามที่สภามหาวิทยาลัยมอบหมาย


คำสั่งมหาวิทยาลัยพะเยา ที่ 2072 / 2566

เรื่อง มอบอำนาจให้ผู้อำนวยการกอง และผู้อำนวยการศูนย์ ปฏิบัติการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา ฉบับที่ 2

ตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป

ข้อ 5 ผู้อำนวยการกองคลัง ให้มีอำนาจปฏิบัติการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา ดังนี้

(1) อนุมติการจ่ายเงินตามประกาศมหาวิทยาลัยพะเยา เรื่อง ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติงานให้กับส่วนงานและหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัย ในวงเงินครั้งละไม่เกิน 100,000 บาท

(2) อนุญาตการลาคลอดบุตร การลาป่วย การลาพักผ่อน การลากิจส่วนตัว การลาเพื่อดูแลบุตรและภรรยาหลังคลอดของพนักงานมหาวิทยาลัย ลูกจ้างของมหาวิทยาลัย และลูกจ้างของกองคลัง ในสังกัดกองคลัง ตามจำนวนวันที่กำหนดไว้ตามประกาศมหาวิทยาลัยพะเยาที่เกี่ยวกับการลาของพนักงานและลูกจ้างของมหาวิทยาลัยพะเยา ที่มหาวิทยาลัยกำหนด

(3) รับทราบการนำเงินรายได้ส่งกองคลัง

(4) อนุมัติการจ่ายเงินตามใบมอบฉันทะ

(5) ลงนามในหนังสือสอบถามยอดบัญชีเงินฝาก

(6) ลงนามในหนังสือนำเงินส่งธนาคาร

(7) การรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย

(8) อนุมัติการใช้สถานที่ในส่วนที่กองคลังดูแลรับผิดชอบ

(9) อนุมัติการใช้สถานที่ในส่วนที่กองคลังดูแลรับผิดชอบ

(10) อนุมัติการยืมวัสดุและครุภัณฑ์ของกองคลัง


ระเบียบมหาวิทยาลัยพะเยา ว่าด้วย การเงิน บัญชี การตรวจสอบ และการจัดการทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย พ.ศ. 2563

 

ข้อ 11  ให้กองคลังมีหน้าที่จัดเก็บเงินรายได้ทุกประเภท เว้นแต่จะมีข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น มหาวิทยาลัยอาจให้ส่วนงานเป็นผู้จัดเก็บเงินรายได้ก็ได้และกรณีเงินรายได้ที่จัดเก็บต้องนำส่งกองคลังนั้น ให้ผู้จัดเก็บนำส่งกองคลังทุกวันในเวลาทำการ หรืออย่างช้าในวันทำการถัดไป เว้นแต่ส่วนงานมีเหตุผลและความจำเป็นอันสมควรที่ไม่สามารถนำเงินรายได้ส่งกองคลังได้เป็นประจำทุกวัน ให้ขออนุมัติต่อคณะกรรมการ นำเงินรายได้ฝากธนาคารทุกวันหรืออย่างช้าในวันทำการถัดไปแทนและให้นำส่งหลักฐานการนำเงินฝากธนาคารพร้อมกับหลักฐานการรับเงินต่อกองคลังล่าช้าได้ ภายในระยะเวลาไม่เกิน 5 วันทำการ สำหรับกรณีเงินรายได้ใดที่ส่วนงานมีอำนาจหน้าที่ในการจัดเก็บตามข้อบังคับ ระเบียบประกาศ หรือคำสั่งที่มหาวิทยาลัยกำหนดไว้โดยไม่ต้องนำส่งกองคลัง ให้ส่วนงานถือปฏิบัติ ตามข้อบังคับ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งนั้น

 

ข้อ 23 การเบิกจ่ายเงินให้เป็นไปตามระเบียบที่สภามหาวิทยาลัยกำหนดหรือประกาศที่เกี่ยวข้อง ในกรณีที่ยังไม่มีระเบียบหรือประกาศกำหนดไว้ให้อธิการบดีเป็นผู้อนุมัติโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ

กรณี ฉุกเฉิน จำเป็น หรือเร่งด่วน หากไม่รีบเร่งดำเนินการอาจส่งผลกระทบให้มหาวิทยาลัยเสียหายหรือเสื่อมเสียชื่อเสียง อธิการบดีอาจอนุมัติและแจ้งต่อคณะกรรมการเพื่อทราบในภายหลังก็ได้

 

ข้อ 28 ให้กองคลังและส่วนงานที่ระบุในระเบียบหรือประกาศของมหาวิทยาลัย รับผิดชอบการจัดทำบัญชีและรายงานทางการเงินให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ตามหลักการบัญชีที่

รับรองโดยทั่วไป (Generally Accepted Accounting Principles)หลักการในการจัดทำบัญชีและรูปแบบรายงานทางการเงินให้จัดทำเป็นประกาศของมหาวิทยาลัย

 

ข้อ 29 ให้ผู้ดำเนินการตามข้อ 28 จัดเก็บเอกสารทางบัญชี การเงิน การพัสดุ การงบประมาณ และทะเบียนทรัพย์สินไว้เป็นหลักฐานให้เป็นปัจจุบันและอยู่ในสภาพที่สามารถตรวจสอบได้

 

ระเบียบมหาวิทยาลัยพะเยา ว่าด้วย การบริหารงบประมาณมหาวิทยาลัยพะเยา   พ.ศ. 2563

ข้อ 28 กองแผนงานและกองคลัง ดำเนินการตรวจสอบ สรุปการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีของส่วนงาน และรายได้รับจริงของส่วนงาน เสนอต่ออธิการบดีเพื่อพิจารณาจัดทำงบประมาณสะสมของมหาวิทยาลัย และส่วนงานตามมาตรา 7 (3) และ 7 (4)

 

 

ระเบียบมหาวิทยาลัยพะเยา ว่าด้วย การเงิน การงบประมาณและการพัสดุของทุนจากแหล่งทุนภายนอกมหาวิทยาลัย  พ.ศ. 2563

ข้อ 8 ให้กองคลังหักทุนจากแหล่งทุนภายนอกทุกกรณีเข้าเป็นเงินรายได้มหาวิทยาลัย ตามเงื่อนไข ต่อไปนี้

(1) ในกรณีที่แหล่งทุนภายนอกไม่มีการกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ไว้ ให้กองคลังดำเนินการหักร้อยละ 10 (สิบ) ของทุนทั้งจำนวน

(2) ในกรณีที่แหล่งทุนภายนอกมีการกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับการหักทุนเข้าเป็นรายได้ของมหาวิทยาลัย และหรือส่วนงาน และหรือหน่วยงานต้นสังกัดของผู้รับทุน ให้กองคลังดำเนินการตามข้อกำหนดนั้น

(3) ในกรณีแหล่งทุนภายนอกมีการกำหนดเงื่อนไขให้ไม่สามารถหักทุนเข้าเป็นรายได้ของมหาวิทยาลัย และหรือส่วนงาน และหรือหน่วยงานต้นสังกัดของผู้รับทุนได้ให้ผู้รับทุนดำเนินการกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายที่ครอบคลุมร้อยละ 10 ของทุนวิจัยทั้งหมดในหมวดค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่สามารถหักเข้าเป็นค่าดำเนินการของมหาวิทยาลัยได้ โดยไม่ขัดกับเงื่อนไขการเบิกจ่ายที่แหล่งทุนกำหนด

(4) ในกรณีที่เป็นการให้ทุนร่วมกัน (co-funding) ระหว่างแหล่งทุนภายนอกกับมหาวิทยาลัย ให้กองคลังดำเนินการหักเงินร้อยละ 10 (สิบ) ของทุนทั้งจำนวนยกเว้นมีการกำหนดเงื่อนไขเป็นอย่างอื่นให้กองคลังดำเนินการตามข้อกำหนดนั้นหรือให้กองคลังดำเนินการตามข้อ 8(3) ตามความเหมาะสมกรณีมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการบริหารงานและการดำเนินงานโครงการอธิการบดีหรือผู้ที่อธิการบดีมีคำสั่งมอบหมายอาจพิจารณาลดหรือยกเว้นการหักทุนจากแหล่งทุนภายนอกตามความเหมาะสม

 

ประกาศมหาวิทยาลัยพะเยา เรื่อง การจัดทำบัญชี รายงานทางการเงิน และการรายงานผลการตรวจสอบบัญชี พ.ศ. 2563

ข้อ 9 ทุกสิ้นเดือนให้มหาวิทยาลัยทำการปิดรอบระยะเวลาการดำเนินงานในระบบ ดังนี้

(1) สำหรับช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ถึงวันที่ 31 สิงหาคม ของปีถัดไปให้ปิดรอบระยะเวลาการดำเนินงานของแต่ละเดือนในระบบทุกวันที่ 5 ของเดือนถัดไป

(2) สำหรับเดือนกันยายนซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของปีบัญชี ให้ปิดรอบระยะเวลาการดำเนินงานในระบบวันที่ ๑0 ตุลาคมของทุกปี

(3) ให้กองคลังบันทึกปรับปรุงรายการและปรับปรุงเพื่อแก้ไขข้อผิดพลาดทางบัญชีภายหลังจากปิดรอบระยะเวลาการดำเนินงานตาม (1) และ (2) ได้ โดยต้องได้รับอนุมัติจากผู้อำนวยการกองคลัง ทั้งนี้ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 10 พฤศจิกายนของทุกปี

 

ข้อ 10 ให้กองคลังมีหน้าที่รวบรวมข้อมูลบัญชีและการเงินของมหาวิทยาลัยที่ได้จัดทำตามข้อ 8 และข้อ 9 รวมทั้งรายการปรับปรุงตามข้อ 9 (3) มาจัดทำรายงานทางการเงินต่อไป

ข้อ 15 ทุกสิ้นเดือนให้กองคลังจัดทำงบทดลอง (Trail Balance) และงบกระทบยอดเงินฝากธนาคาร (Bank Reconciliation Statement) ให้แล้วเสร็จ จากนั้นให้เสนอต่ออธิการบดีเพื่อทราบ ส่งหน่วยตรวจสอบภายในของมหาวิทยาลัยเพื่อสอบทาน และส่งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินด้วย ภายในสิบห้าวันนับจากวันสิ้นเดือนของทุกเดือน

สำหรับงบทดลองตามวรรคแรก ให้จัดทำในระบบบริหารการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Government Fiscal Management Information System หรือ GFMIS) ภายในระยะเวลาตามที่กรมบัญชีกลางกำหนด รวมทั้งเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ภายในยี่สิบวันนับจากวันสิ้นเดือนของทุกเดือน


ประกาศมหาวิทยาลัยพะเยา เรื่อง การจัดทำบัญชี รายงานทางการเงิน และการรายงานผลการตรวจสอบบัญชี (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2566

ข้อ 17 ทุกสิ้นปีบัญชีให้กองคลังจัดทำข้อมูลดังต่อไปนี้ให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันสิ้นปีบัญชี

(1) รายงานเงินคงเหลือประจำวัน

(2) งบกระทบยอดเงินฝากธนาคาร เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของใบแจ้งยอดจากธนาคาร (Bank Statement) และยอดคงเหลือตามงบทดลอง ณ วันสิ้นปีบัญชี

(3) สัญญายืมเงินที่ยังไม่ได้ส่งใช้ใบสำคัญ หรือทะเบียนคุมลูกหนี้เงินยืม ณ วันสิ้นปีบัญชีโดยแสดงรายละเอียดของสัญญายืมเงิน ชื่อผู้ยืม จำนวนเงินที่ยืม และรายละเอียดอื่น ๆ ที่เห็นสมควร

(4) ใบสำคัญแสดงภาระผูกพันที่ต้องจ่ายแก่เจ้าหนี้ หรือทะเบียนคุมเจ้าหนี้ ณ วันสิ้นปีบัญชี โดยแสดงรายละเอียดของหนี้ ชื่อเจ้าหนี้ จำนวนเงินคงค้าง และรายละเอียดอื่น ๆ ที่เห็นสมควร

 

ประกาศมหาวิทยาลัยพะเยา เรื่อง การรับเงิน การเก็บรักษาเงิน และการเบิกจ่ายเงิน พ.ศ. 2564

 

ส่วนที่ 1 การรับเงิน


ข้อ 8 ให้กองคลังและหรือส่วนงานบันทึกข้อมูลการรับเงินในระบบภายในวันที่ที่ได้รับเงินหรือรับชำระเงิน เมื่อสิ้นเวลารับเงิน ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่จัดเก็บหรือรับเงินที่ได้รับพร้อมสำเนาใบเสร็จรับเงิน และเอกสารอื่นที่จัดเก็บในวันนั้นทั้งหมดส่งต่อเจ้าหน้าที่การเงินของกองคลัง ในกรณีที่มีการรับเงินภายหลังกำหนดเวลาปิดบัญชีสำหรับวันนั้นแล้ว ให้บันทึกข้อมูลการรับเงินนั้นในระบบ
ในวันทำการถัดไป

 

ข้อ 9 ให้กองคลังและหรือส่วนงานตรวจสอบจำนวนเงินและหรือรายงานซึ่งเป็นหลักฐานการรับชำระเงินจากระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ที่เจ้าหน้าที่จัดเก็บและนำส่งกับหลักฐานการรับเงินและรายการที่บันทึกไว้ในบัญชีเงินสดหรือบัญชีเงินฝากธนาคารว่าถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ เมื่อได้ตรวจสอบความถูกต้องตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบแสดงยอดรวมเงินตามใบเสร็จรับเงินทุกฉบับ และลงลายมือชื่อกำกับในรายงานการรับเงินประจำวันไว้ด้วย

 

ข้อ 12 ให้กองคลังและ/หรือส่วนงาน จัดทำทะเบียนคุมใบเสร็จรับเงินไว้ เพื่อให้ทราบและตรวจสอบได้ว่าได้จัดพิมพ์ขึ้นจำนวนเท่าใด ได้จ่ายใบเสร็จรับเงินจำนวนเท่าใด เลขที่ใดถึงเลขที่ใด ให้ส่วนงานใดหรือเจ้าหน้าที่ผู้ใดไปดำเนินการจัดเก็บเงินเมื่อวัน เดือน ปีใด

 

ส่วนที่ 2 การเก็บรักษาเงิน


ข้อ 22 ให้ส่วนงาน จัดทำรายงานเงินคงเหลือประจำวันตามแบบที่มหาวิทยาลัยกำหนดเป็นประจำทุกวันที่มีการรับจ่ายเงิน ในกรณีที่วันใดไม่มีการรับจ่ายเงินตามวรรคหนึ่ง จะไม่ทำรายงานเงินคงเหลือประจำวัน สำหรับวันนั้นก็ได้ แต่ให้หมายเหตุไว้ในรายงานเงินคงเหลือประจำวันที่มีการรับจ่ายเงินของวันถัดไปด้วย

 

ข้อ 23 เมื่อสิ้นเวลารับจ่ายเงินประจำวัน ให้เจ้าหน้าที่การเงินนำเงินที่จะเก็บรักษาและรายงานเงินคงเหลือประจำวันส่งมอบต่อคณะกรรมการเก็บรักษาเงินให้คณะกรรมการเก็บรักษาเงินร่วมกันตรวจสอบตัวเงินและเอกสารแทนตัวเงินกับรายงานเงินดงเหลือประจำวัน เมื่อปรากฏว่าถูกต้องแล้วให้นำเงินและเอกสารแทนตัวเงินเก็บรักษาในตู้นิรภัย ใส่กุญแจให้เรียบร้อย และให้คณะกรรมการเก็บรักษาเงินลงลายมือชื่อในรายงานเงินคงเหลือประจำวันไว้เป็นหลักฐาน

ข้อ 24 รายงานเงินคงเหลือประจำวัน เมื่อคณะกรรมการเก็บรักษาเงินได้ลงลายมือชื่อแล้วให้ผู้อำนวยการกองคลังหรือเจ้าหน้าที่การเงิน เสนออธิการบดีหรือผู้ที่อธิการบดีมอบหมายเพื่อทราบ

 

ข้อ 28  วรรค 3

ให้กองคลัง รายงานสรุปบัญชีเงินฝากธนาคารทุกบัญชีของมหาวิทยาลัยต่ออธิการบดีเป็นประจำทุกเดือน และต่อคณะกรรมการการเงินและทรัพย์สินของมหาวิทยาลัยพะเยาอย่างสม่ำเสมอ

 

ส่วนที่ 3 การเบิกจ่ายเงิน


ข้อ 30  การขอเบิกเงินทุกกรณี ห้ามมิให้ขอเบิกเงินจนกว่าจะถึงกำหนดหรือใกล้จะถึงกำหนดจ่ายเงินก่อนการอนุมัติเบิกเงินและจ่ายเงิน ให้ส่วนงานเป็นผู้รับผิดชอบตรวจเอกสารและหลักฐานการเบิกจ่ายเงินให้ถูกต้องตามรายการ จำนวนเงินที่ได้รับอนุมัติ

ตามระเบียบ ประกาศ หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง

 

ข้อ 36 การจ่ายเงินตามใบขอเบิกเงิน ให้กองคลังดำเนินการจ่ายให้แล้วเสร็จภายใน 7 วันทำการ ถัดจากวันที่ผู้เบิกได้แก้ไขถูกต้องแล้ว ในกรณีที่มีเหตุทักท้วงให้ส่วนงานดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 9 วันทำการถัดจากวันที่ได้รับแจ้งเหตุทักท้วง

 

ข้อ 37 การจ่ายเงิน ให้กระทำได้เฉพาะที่มีกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือคำสั่งกำหนดไว้และต้องได้รับอนุมัติจากอธิการบดีหรือผู้ที่อธิการบดีมอบหมาย

 

ข้อ 38 ส่วนงานผู้เบิกจะจ่ายเงินหรือก่อหนี้ผูกพันได้แต่เฉพาะที่กฎหมาย ข้อบังคับระเบียบ ประกาศ คำสั่ง หรือตามที่ได้รับอนุมัติจากมหาวิทยาลัย

การได้รับเงินจากกองคลัง ไม่ถือเป็นการปลดเปลื้องความรับผิดชอบของส่วนงานผู้เบิกในการที่จะต้องดูแลให้มีการจ่ายเงินหรือก่อหนี้ผูกพันให้เป็นไปตามวรรคแรก

 

ข้อ 39 การจ่ายเงิน จะต้องมีหลักฐานการจ่ายฉบับจริงไว้ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบหากไม่สามารถเรียกใบเสร็จรับเงินจากผู้รับเงินได้ ให้ผู้รับเงินลงชื่อรับเงินในใบสำคัญรับเงินเพื่อใช้เป็นหลักฐานการจ่ายแทน

กรณีที่ได้รับใบเสร็จรับเงินแล้ว แต่เกิดสูญหาย ให้ใช้สำเนาใบเสร็จรับเงินพร้อมแนบหลักฐานการลงบันทึกประจำวันของสำนักงานตำรวจ ซึ่งผู้รับเงินรับรองเป็นเอกสารประกอบการขอเบิกเงินแทนได้

กรณีที่ไม่อาจขอสำเนาใบเสร็จรับเงินตามวรรคสองได้ ให้ทำใบรับรองการจ่ายเงินโดยชี้แจงเหตุผล พฤติการณ์ที่สูญหายหรือไม่อาจขอสำเนาใบเสร็จรับเงินได้ พร้อมรับรองว่ายังไม่เคยนำใบเสร็จรับเงินนั้นมาเบิกจ่าย แม้พบภายหลังจะไม่นำมาเบิกจ่ายอีก แล้วเสนออธิการบดีเพื่อพิจารณาอนุมัติเมื่อได้รับอนุมัติแล้วให้ใช้ใบรับรองการจ่ายเงินนั้นเป็นหลักฐานประกอบการขอเบิกเงินได้ และเมื่อมีการจ่ายเงินแล้วให้เจ้าหน้าที่ผู้จ่ายทำใบสำคัญรับเงินและลงชื่อในใบสำคัญรับเงินนั้นเพื่อเป็นหลักฐานการจ่าย

 

ข้อ 44 ให้เจ้าหน้าที่ผู้จ่ายเงิน ประทับตราข้อความว่า "จ่ายเงินแล้ว" โดยลงลายมือชื่อพร้อมทั้ง วัน เดือน ปี ที่จ่าย กำกับไว้ในใบสำคัญจ่าย เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบ

 

ข้อ 48 ให้ส่วนงานเก็บรักษาหลักฐานการจ่ายเงินไว้ในที่ปลอดภัย มิให้สูญหายหรือเสียหายได้ เพื่อการตรวจสอบตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด ทั้งนี้ การจ่ายเงินทุกรายการต้องบันทึกการจ่ายไว้ในระบบและต้องตรวจสอบการจ่ายเงินกับหลักฐานการจ่ายทุกวัน

 

ส่วนที่ 4 การควบคุมและการตรวจสอบ


ข้อ 51 ให้ส่วนงานผู้เบิกนำเอกสารการรับจ่ายเงินมาเป็นหลักฐานบันทึกบัญชีตามหลักการและนโยบายบัญชีที่มหาวิทยาลัยกำหนด

 

ข้อ 52 ทุกสิ้นวันทำการ ให้เจ้าหน้าที่การเงินของส่วนงานตรวจสอบจำนวนเงินสด เช็ดเอกสารแทนตัวเงินอื่นคงเหลือกับรายงานเงินคงเหลือประจำวันที่มหาวิทยาลัยกำหนด

 

ประกาศมหาวิทยาลัยพะเยา เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการยืมเงินยืม และแนวปฏิบัติการจ่ายเงินยืม พ.ศ. 2566


ข้อ 19 กรณีผู้ยืมเงินมิได้ดำเนินการส่งใช้คืนเงินยืมตามระยะเวลาที่กำหนดหรือยังไม่ได้หักล้างบัญชีลูกหนี้เงินยืม ให้กองคลังหรือส่วนงานแล้วแต่กรณี ตรวจสอบติดตามและทวงถามเป็นลายลักษณ์อักษรไปยังผู้ยืมเงิน เพื่อเร่งรัดให้ผู้ยืมเงินส่งใช้นเงินยืมให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

ข้อ 20 กรณีผู้ยืมเงินยังมิได้ส่งใช้คืนเงินยืม ให้กองคลังหรือส่วนงานรายงานต่อผู้มีอำนาจอนุมัติ เพื่อทราบและพิจารณาสั่งการบังคับให้เป็นไปตามเงื่อนไขสัญญาเงินยืมโดยสามารถหักเงินเดือนหรือค่าจ้างหรือเงินอื่นใดที่ผู้ยืมเงินได้รับจากมหาวิทยาลัยตามสัญญาเงินยืมเพื่อเป็นการส่งใช้คืนเงินยืมอย่างน้อยในอัตราร้อยละ 50 ของเงินคงเหลือสุทธิจากเงินเดือนหรือค่าจ้างหรือเงินอื่นใดที่ผู้ยืมเงินได้รับจากมหาวิทยาลัยในจำนวนคงเหลือสุทธิจนกว่าจะครบตามจำนวนเงินยืมที่ค้างชำระ

ข้อ 21 กรณีที่ผู้ยืมเงินถูกหักเงินเดือนหรือค่าจ้างหรือเงินอื่นใดที่ผู้ยืมเงินได้รับจากมหาวิทยาลัยจนครบจำนวนเงินยืมที่ผู้ยืมเงินค้างชำระภายในระยะเวลา 12 เดือน ให้กองคลังหรือส่วนงานแจ้งผู้ยืมเงินรายงานผลการดำเนินงานตามสัญญาเงินยืมแก่มหาวิทยาลัย

ข้อ 22 กรณีที่ผู้ยืมเงินถูกหักเงินเดือนหรือค่าจ้างหรือเงินอื่นใดที่ผู้ยืมเงินได้รับจากมหาวิทยาลัยจนครบ 12 เดือน แต่ยังไม่ครบตามจำนวนเงินยืมที่ ผู้ยืมเงินค้างชำระ ให้กองคลังหรือส่วนงานเสนอมหาวิทยาลัยดำเนินการทางวินัยต่อไป

ข้อ 23 กรณีพบว่าผู้ยืมเงินมิได้นำเงินยืมจากมหาวิทยาลัยไปดำเนินการตามหน้าที่หรือการปฏิบัติงานของมหาวิทยาลัย ให้กองคลังหรือส่วนงานเสนอมหาวิทยาลัยดำเนินการทางวินัยต่อไป

 

 

 

กองคลัง

"ใส่ใจทุกปัญหา รับปรึกษาด้วยรอยยิ้ม"